ความหมาย สื่อกิจกรรม หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียน ได้ประสบการณ์หรือเรียนรู้เนื้อหาด้วยการดู การฟัง การสังเกต การทดลอง การสัมผัส รวมถึงการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น บางกิจกรรมอาจใช้สื่อประเภทวัสดุ อุปกรณ์ นำมาใช้เพื่อ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ทำให้บทเรียนดำเนินไปอย่างสนุกสนาน น่าสนใจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียน รู้ได้ดียิ่งขึ้น
ลักษณะสื่อการสอนประเภทกิจกรรมที่ดี
1. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ การทำกิจกรรม และประเมินผลกิจกรรม
2. ผู้เรียนได้ฝึกฝนพฤติกรรมการเรียนทั้งทางด้านความรู้ เจตคติ และทักษะผสมผสานกันเป็นบูรณาการ
3. มีลักษณะของการกระทำเด่นชัดด้วยการกำหนดคำที่แสดงถึงการ กระทำไว้ด้วยทุกครั้ง
4. กำหนดเงื่อนไขสำหรับประกอบกิจกรรมไว้ชัดเจน สามารถวัดผล และสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนได้
5. มีเกณฑ์หรือมาตรฐานในการดำเนินกิจกรรม กำหนดพฤติกรรม ที่ถือเป็นระดับต่ำสุดที่พึงพอใจ
6 ใช้เวลาพอเหมาะที่ผู้เรียนจะสามารถดำเนินกิจกรรม ให้ประสบผลสำเร็จ และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ 7. มีการชี้แนวทางหรือนำทางในการดำเนินกิจกรรมได้เด่นชัด
8. กิจกรรมต้องตรงกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
9. กิจกรรมไม่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน มีความยากง่ายเหมาะสม กับวัยของผู้เรียน
10. เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
สื่อการสอนประเภทกิจกรรมมี 7 ชนิด
1. นิทรรศการ นิทรรศการ หมายถึง การจัดแสดงสิ่งของวัสดุ อุปกรณ์ มีความสัมพันธ์กันในแต่ละเรื่อง เพื่อเร้าความสนใจ ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและเรียนรู้ด้วยการดู ฟัง สังเกต จับต้อง และทดลองภายใต้จุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจุดมุ่งหมายโดยการใช้สื่อหลายชนิด เช่น แผนภาพ หุ่นจำลอง ของจริง นอกจากนี้นิทรรศการยังสามารถ จัดกิจกรรมอื่นๆ ประกอบเพื่อให้เกิดความสะดวก และรวดเร็วในการสื่อความหมายกับผู้ชม
คุณค่าของนิทรรศการ
1. ส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะ ฝึกความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ดี
2. สื่อต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงสามารถสื่อความหมายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้
3. เป็นการจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยการดู ฟัง สังเกต
4. สามารถนำความคิดที่กระจัดกระจายมารวมกันไว้ให้ผู้ชมสรุปเป็นความคิดรวบยอดได้อย่างถูกต้อง
2. นาฏการ นาฏการ หมายถึง ประสบการที่ใช้แทนประสบการณ์จริง เป็นการแสดงต่างๆ ที่จัดขึ้น เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาเรื่องราวจากลีลา ท่าทาง บทบาทภาษาพูดของผู้แสดง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนสนใจ และเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเรียนรู้ได้สะดวกนาฎการสามารถจัดลำดับการเสนอเป็นเรื่องราวให้ผู้เรียน ได้เกิดความรู้สึกเข้า เหมือนว่าตัวเองได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ
คุณค่าของนาฏการ 1. ทำให้บทเรียนเป็นจริงเป็นจัง น่าสนใจ เกิดความประทับใจ และจดจำได้นาน
2. นักเรียนได้ฝึกทักษะทางภาษา
3. ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออก ได้เข้าใจ
4. ฝึกความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาร่วมกัน
5. สร้างและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เรียนไปในทางที่ดี
6. ช่วยระบายความเครียดและสนองความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก
3. การสาธิต การสาธิต เป็นกิจกรรมที่ถ่ายทอดเนื้อหาสาระด้วยการแสดงหรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างพร้อมกับ การบรรยายหรืออธิบายเป็นลำดับขั้นตอน โดยทั่วไปจะประกอบด้วย ขั้นเตรียม ขั้นสาธิต ขั้นสรุป และประเมินผล โดยผู้ชมนิทรรศการมีส่วนร่วมในการสังเกตและร่วมกิจกรรมไปด้วยเป็นระยะๆ กิจกรรมนี้เหมาะสำหรับกิจกรรมปฏิบัติที่เป็นกระบวนการมีลำดับขั้นตอน
คุณค่าของการสาธิต 1. เป็นจุดรวมความสนใจของนักเรียน
2. สาธิตเหมาะกับการแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวกับกระบวนการโดยเฉพาะในการสอนวิชาทักษะ เช่น ดนตรี การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
3. เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เช่น การสังเกต วิจารณ์ และปฏิบัติด้วยตนเอง
4. ช่วยให้ผู้เรียน เรียนด้วยความสนุกสนาน
5. ประหยัดค่าใช้จ่าย ทุ่นเวลา และป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับนักเรียน
4. การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา หมายถึง การใช้แหล่งวิชาการและสภาพแวดล้อมของชุมชน ให้เป็นประโยชน์ ต่อการเรียนรู้ เพื่อขยายประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวาง มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น และช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้แก้ปัญหาในการดำรงชีวิต ในโอกาสต่อไปได้อย่างดี
คุณค่าของการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา
1. ทำให้ผู้เรียนคุ้นเคยและรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
2. แหล่งวิชาการในชุมชนมีทั้งสถานที่และบุคคล ถ้าครูเลือก และนำมาใช้ให้เหมาะสมก็จะได้ผลคุ้มค่า เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อย หรือไม่เสียเลย
3. เปลี่ยนบรรยากาศในการเรียน ให้ผู้เรียนได้พบสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ เร้าความสนใจ และเพิ่มพูนความเข้าใจ
4. ฝึกนิสัยช่างซักถาม และสังเกตพิจารณา
5. ฝึกการทำงานร่วมกัน ฝึกความรับผิดชอบ มนุษยสัมพันธ์ ระเบียบวินัย และการตรงต่อเวลา
5. สถานการณ์จำลอง สถานการณ์จำลอง เป็นการจัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริง ให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น การจัดสถานการณ์จำลอง เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคนที่ออกไปเผชิญกับปัญหาจริง ๆ เช่น นักเรียนฝึกหัดครู ก่อนที่จะสอนต้องได้รับการฝึกฝนด้านวิชาการสอน วิธีฝึกอย่างหนึ่งที่ได้ผลดีคือ การฝึกจากสถานการณ์จำลอง
คุณค่าของการใช้สถานการณ์จำลอง
1. เป็นการให้โอกาสผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการต่างๆ
2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนสูงมาก เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้
3. สามารถจัดประสบการณ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพความจำได้ดี สามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นจริง ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. สามารถจัดทดลองจริงได้ตามสมมติฐาน
5. ควบคุมเวลาเวลาในการเรียนรู้ได้ดี
6. การศึกษานอกสถานที่ การศึกษานอกสถานที่ หรือ ทัศนศึกษา หมายถึง กิจกรรมที่พาผู้เรียนออกไปหาประสบการณ์ นอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเรียน ที่สอดคล้องกับเนื้อหา และวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การไปทัศนศึกษา ต่างจากการทัศนาจร โดยทั่วๆ ตรงที่ การทัศนาจรมุ่งความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นสำคัญ ส่วนการศึกษานอกสถานที่เน้นการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งต้องอาศัย การวางแผนและการดำเนินการอย่าง มีขั้นตอนเป็นสำคัญ
คุณค่าของการศึกษานอกสถานที่
1. ช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรง
2. ช่วยให้บทเรียนมีความหมายยิ่งขึ้น
3. ช่วยให้ฝึกฝนระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา และมนุษยสัมพันธ์
4. ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งก่อนและหลัง การทำกิจกรรมทัศนศึกษา
5. ช่วยให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรมการเรียนอย่างเพลิดเพลิน
7. กระบวนการกลุ่ม กระบวนการกลุ่ม คือ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยการเข้ากลุ่ม กับสมาชิก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
คุณค่าของกระบวนการกลุ่ม
1. รู้จักการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
2. ฝึกความอดทน ความเสียสละทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
3. รู้จักในการวางแผนปรึกษาหารือร่วมกัน ทำให้งานมีประสิทธิภาพและเสร็จเร็ว
4. มีความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ทำให้งานออกมาหลายรูปแบบ
5. ฝึกให้มีความกล้าแสดงออกและกล้าแสดงความคิดเห็นต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม